วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เรื่องราวที่นักเรียนสนใจ (3)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ผมจะมาแนะนำมหาลัยที่นักเรียนมัธยมปลายหลายคนอยากเข้า...นั้นก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ [ประเทศไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสากลในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (ค.ศ. ๑๙๔๐) ดังนั้น พ.ศ. กับ ค.ศ. ก่อนหน้านี้จึงเหลื่อมกันอยู่ ๑ ปี] และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้รับราชการ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕ ต่อมาทั้งภาคราชการและเอกชนต้องการบุคลากรทำงานในสาขาวิชาต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมราโชบายในสมเด็จพระบรมชนกาธิราชที่จะ ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาวสยามพอที่จะช่วยให้กิจการปกครองท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยดำเนินไปได้ดีในระดับหนึ่ง แล้วสมควรขยายการจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของ กระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๓



ต่อมาทรงเห็นว่าควรขยายกิจการให้กว้างขวางตามพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่และถาวรในสมเด็จพระบรมชนกาธิราช พระองค์จึงได้พระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการที่ราษฎรได้เรี่ยไรเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าจำนวนเก้าแสนกว่าบาทให้ใช้เพื่อสร้างอาคารเรียนและเป็นตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน ๑,๓๐๙ ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และเงินที่เหลือจากการสร้างก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินและ ทรงวางศิลาพระฤกษ์ในการสร้างอาคารดังกล่าวเมื่อ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘


ในครั้งนั้นมีการเปิดสอน ๘ แผนกวิชา ได้แก่ การปกครอง กฎหมาย การฑูต การคลัง การแพทย์การช่าง การเกษตร และวิชาครู จัดการศึกษาใน ๕ โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) คือ โรงเรียนรัฏฐประศาสนศาสตร์ ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ตั้งอยู่ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนราชแพทยาลัย ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช โรงเรียนเนติศึกษา ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา และโรงเรียนยันตรศึกษา ตั้งที่วังใหม่ หรือวังกลางทุ่ง หรือวังวินเซอร์ (เคยเป็นวังของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ)ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่จะรับผู้ซึ่งประสงค์จะศึกษาขั้นสูงให้เข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เมื่อ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ให้เจริญก้าวหน้ากว้างขวางแผ่ไพศาล และมิรู้เสื่อมสูญ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น ๔ คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๙ – ๒๔๖๕ มีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร และการเตรียมการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญา มีการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกี้ เฟลเลอร์ เพื่อให้ช่วยเหลือการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ จากนั้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖ – ๒๔๘๐ เริ่มรับผู้สำเร็จหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรและรับนักเรียนผู้จบประโยคมัธยมบริบูรณ์เข้าเรียนอีก ๔ คณะ และในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๙๐ เริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดเตรียมมหาวิทยาลัยคือนักเรียนจะต้องเลือกเรียนตามคณะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนทำให้มีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยขึ้น หลังจากนั้น ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑ – ๒๕๐๓ เป็นระยะเวลาของการขยายการจัดการศึกษาออกไปในศาสตร์และศิลปวิทยาการต่างๆ โดยเน้นระดับปริญญาตรีเป็นหลัก และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาของการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น และเริ่มพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย การอนุรักษ์และสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมและการบริการทางวิชาการให้แก่สังคม มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยสถาบันบริการ และศูนย์ เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยและพัฒนาตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกวิถีทาง ให้สมกับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราชของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป
สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
พระเกี้ยว

พระเกี้ยวเป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทั้งนี้สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับ พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมี ความหมายสำคัญยิ่งคือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิม ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน มหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็น เครื่องหมายของโรงเรียนก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างจำลองจาก พระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา๒๕๓๑ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๒)
สีชมพู


เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือโรงเรียนมหาดเล็กครั้งนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นักเรียนมหาดเล็ก แต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก ซึ่งมีอินทรธนูเป็นสีบานเย็นอันเป็นสีของกรมมหาดเล็ก สีบานเย็น จึงเป็นสีประจำสถาบัน ต่อ มาเมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งแรก ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพิจารณาสีที่จะใช้ในการแข่ง ขัน ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตและนายกสโมสรนิสิตฯ ได้เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัยคือ พระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคารและโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ คณะกรรมการสโมสรนิสิตฯ เห็นสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล มหาวิทยาลัยจึงใช้สีชมพูเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยตลอดม
ต้นจามจุรี

“จามจุรี” เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ด้วยวัฏจักรของจามจุรีมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจุฬาฯ กล่าวคือ มีสีเขียวชอุ่มให้ความสดชื่นในช่วงเวลาภาคต้นของการศึกษาเสมือนนิสิตปีที่๑ ที่ยังคงเริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายของการศึกษา ทั้งใบและฝักย้ำเตือนให้นิสิตเตรียม ตัวสอบปลายปีมิฉะนั้นอาจจะต้องเรียนซ้ำชั้นหรือถูกไล่ออก
ด้วยจามจุรีเป็นไม้ที่สลัดใบและฝักในช่วงเวลาปลายปี ทำให้ถนนและคูข้างถนนในจุฬาฯสกปรกปัญหาของต้นจามจุรี คือ ปลูกขึ้นยาก ดูแลรักษายาก มีโรคพืช ทำให้กิ่งก้านหักหล่น ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ -๒๕๐๐ จำนวนต้นจามจุรีในมหาวิทยาลัยเริ่มลดน้อยลงอย่างมากมีคณะต่างๆ เกิดขึ้นเป็นเหตุให้ต้นจามจุรีถูกโค่นลงเพื่อสร้างตึกใหม่ และไม่มีนโยบายปลูกทดแทน จากการที่จามจุรีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชาวจุฬาฯ ถือเป็นิมิตหมายที่ดี โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระปร มินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน ๕ ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวา จำนวน ๓ ต้น ด้านซ้ายจำนวน ๒ ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรีว่ามีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้น สมควรจะเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด “จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

ต้มจามจุรีพระราชทานทั้ง ๕ ต้นนี้ จึงยืนอยู่แข็งแรง เป็นศรีสง่าและศิริมงคลแก่ชาวจุฬาฯ มาจนถึงปัจจุบันและในอนาคตสืบไป และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี จุฬาฯ จึงตกแต่งลานจามจุรีพระราชทานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดลานจามจุรีพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๙ เพื่อให้ลานจามจุรีพระราชทานนี้เป็นสิ่งเตือนใจให้ชาวจุฬาฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเชื่อมั่นว่าลานจามจุรีพระราชทาน จะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ร้อยรัดความสามัคคีของชาวจุฬาฯตลอดไป ต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๐ ในวาระครบรอบ ๘๐ ปี แห่งการสถาปนา ชาวจุฬาฯ ร่วมใจดำเนินตามพระราชดำรัส ด้วยโครงการ “จุฬาฯ ๘๐ ปี จามจุรี ๘๐ ต้น” กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชาวจุฬาฯ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ บุคลากร ล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ทั้งสิ้น และโครงการนี้จะทยอยปลูกต้นจามจุรีต่อไปจนจุฬาฯ กลายเป็นอุทยานจามจุรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ ชาวจุฬาฯ รุ่นต่อไปได้ร่มเงาจามจุรี มิใช่เหลือแต่เพียงความทรงจำ และจามจุรีก็จะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่จุฬาฯ ตลอดกาลชาวจุฬาฯ ยึดถือจามจุรีนี้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มักเรียกกันว่า จามจุรีสีชมพู หรือจามจุรีศรีจุฬาฯเมื่อถึงวันงานประเพณีต้อนรับน้องใหม่ทุก ๆ ปี นิสิตรุ่นพี่จะนำใบหรือกิ่งจามจุรีเล็ก ๆ มาผูกริบบิ้นสีชมพูคล้องคอให้นิสิตใหม่ เพื่อเป็นการต้อนรับเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาณาจักรแห่งจามจุรีสีชมพู
คณะที่เปิดสอน
คณะครุศาสตร์                                   Faculty of Education                       
คณะจิตวิทยา                                    Faculty of Psychology                    
คณะทันตแพทยศาสตร์                     Faculty of Dentistry                         
คณะนิติศาสตร์                                  Faculty of Law  
คณะนิเทศศาสตร์                              Faculty of Communication Arts  
คณะพยาบาลศาสตร์                         Faculty of Nursing                            
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี     Faculty of Commerce and Accountancy 
คณะรัฐศาสตร์                                   Faculty of Political Science                            
คณะวิทยาศาสตร์                              Faculty of Science                            
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา                Faculty of Sports Science              
คณะวิศวกรรมศาสตร์                        Faculty of Engineering                   
คณะศิลปกรรมศาสตร์                       Faculty of Fine and Applied Arts               
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์                Faculty of Architecture                 
คณะสหเวชศาสตร์                           Faculty of Applied Health Sciences                           
คณะสัตวแพทยศาสตร์                     Faculty of Veterinary Science                     
คณะอักษรศาสตร์                             Faculty of Arts                   
คณะเภสัชศาสตร์                              Faculty of Pharmaceutical Sciences                          
คณะเศรษฐศาสตร์                            Faculty of Economics                 
คณะแพทยศาสตร์                            Faculty of Medicine       
บัณฑิตวิทยาลัย                               Graduate School                           
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร         School of Agricultural      
แนะนำมหาวิทยาลัย
ลองดูกันก่อนนะคับ

ขอบคุณข้อมูลจาก:www.chula.ac.th/

           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น